EN | TH

Actuary ‘กุนซือ’ กุมเกมธุรกิจประกัน จีราวัฒน์ คงแก้ว 

ว่ากันว่าถ้าเอ็มดีของบริษัทประกันเปรียบเสมือน "เล่าปี่" Actuary หรือนักคณิตศาสตร์ประกันภัยก็ไม่ต่างอะไรกับ "ขงเบ้ง" กุนซือที่กุมบังเหียนอยู่เบื้องหลัง คอยวิเคราะห์กลยุทธ์ประเมินเกม ในสหรัฐอเมริกานั้น วิชาชีพนี้กำลังบูม เช่นเดียวกับประเทศจีนที่พ่อแม่เบนเข็มส่งลูกเรียนทางนี้มากขึ้น หากกับประเทศไทยวิชาชีพนี้กลับเป็นเรื่องใหม่และขาดแคลน

"พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน"

ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายคณิตศาสตร์ประกันภัย บริษัท อเมริกัน อินเตอร์แนชันแนล แอสชัวรันส์ จำกัด หรือ เอไอเอ ประจำสำนักงานใหญ่ประเทศฮ่องกง หนุ่มวัย 28 ปี คือ 1 ใน 4 ของนักคณิตศาสตร์ประกันภัยคนไทย ที่ได้รับคุณวุฒิFellowship of the Society of Actuaries (FSA) ด้วยอายุน้อยที่สุดใบคุณวุฒิที่ขึ้นชื่อว่าทั้งหินทั้งสาหัส สำหรับผู้ที่จะก้าวขึ้นมาเป็นนักคณิตศาสตร์ประกันภัยชั้นสูง (Actuary) หลายคนต้องเสียเวลาศึกษาเพื่อจะสอบให้ผ่านถึงระดับนี้ไม่ต่ำกว่า 10 ปี แต่กับหนุ่มคนนี้ใช้เวลาพิชิตคุณวุฒิดังกล่าวเพียง 4 ปี เท่านั้นเขาบอกเราว่า

นักคณิตศาสตร์ประกันภัยเป็นวิชาชีพที่ต้องมีคุณวุฒิ ต้องผ่านการสอบและการศึกษาอย่างหนัก และการสอบเพื่อเป็นนักคณิตศาสตร์ประกันภัยมีหลายระดับ นั่นคือ การสอบผ่าน 6 คอร์ส ก็จะได้คุณวุฒิ Associate of the Society of Actuaries (ASA)และสอบอีก 2 คอร์ส ก็จะได้คุณวุฒิ Fellowship of the Society of Actuaries (FSA) โดยไม่มีการเรียนการสอน แต่เป็นลักษณะแนะนำให้ศึกษาด้วยตัวเอง แล้วมาสอบ ซึ่งจะต้องผ่านการสอบข้อเขียน การสัมมนา และทำโครงงานวิชาการ เป็นการสอบพร้อมกันทั่วโลก ปีละ 2 ครั้ง"การสอบมีทั้งสอบด้านคณิตศาสตร์ประกันภัย สถิติ การเงิน เศรษฐศาสตร์ กฎหมาย งบการเงิน บัญชี วิธีการลงทุน ซึ่งนักคณิตศาสตร์ประกันภัยจะมีอยู่ 2 แบบ คือถ้ายังสอบไม่ครบหมดก็จะเรียกว่า Actuarial Student และเมื่อจบแล้วก็จะถูกเรียกว่า Qualified Actuary ซึ่งการจะเป็นนักคณิตศาสตร์ประกันภัย เราต้องเป็น Qualified Actuary ให้ได้ก่อน แม้จะเรียนจบระดับปริญญาโทมา ก็ต้องมาสอบเป็น FSA อยู่ดี"พิเชฐบอกเราว่า การที่เขาสามารถสอบผ่านจนได้วุฒิ FSA ในเวลาไม่นานนั้น มีเคล็ดลับอยู่ที่ว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการทุ่มเทต่อการอ่านหนังสืออย่างหนัก รวมถึงการสอบถามเพื่อนๆ ที่รู้จักกัน การใช้บริการ study group website สำหรับให้ผู้ที่จะสอบมีเวทีพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน  รวมถึงสามารถสอบถามสิ่งที่ไม่เข้าใจผ่านทางเว็บไซต์ดังกล่าวได้ด้วยผลตอบแทนของความสำเร็จไม่เพียงค่าวิชาชีพที่ไม่ต่ำกว่า 70,000 บาทต่อเดือน ขณะที่ในอเมริกา นักคณิตศาสตร์ประกันภัยจะมีรายได้กว่า 100,000 ดอลลาร์ต่อปี และที่ประเทศจีนก็กำลังโปรโมทอาชีพนี้อย่างหนัก มีผู้สนใจสอบไม่ต่ำกว่า 4-5พันคนต่อครั้ง โดยเชื่อว่าในอีก 5 ปี ข้างหน้า

นักคณิตศาสตร์ประกันภัยจะกลายเป็นผู้มีอิทธิพลมากที่สุดแต่ที่มากกว่านั้นคือ บทบาททางอาชีพที่เปรียบเสมือน "กุนซือ" กำกับยุทธศาสตร์ขององค์กร …"นักคณิตศาสตร์ประกันภัยก็คือผู้ที่ทำสิ่งที่ไม่แน่นอนให้มีความแน่นอนขึ้น ซึ่งบริษัทประกันภัยมีหน้าที่บริหารความเสี่ยง หน้าที่ของเราคือประเมินว่าอนาคตจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง ต้นทุนจะเป็นอย่างไร นโยบายของภาครัฐถ้าหากเปลี่ยนไปจะส่งผลอย่างไร อัตราดอกเบี้ยจะเป็นอย่างไร ในวันนี้การออกสินค้า การตั้งราคา การจ่ายผลประโยชน์ลูกค้า ตัวแทน การขายสินค้าผ่านช่องทางต่างๆ รวมถึง การตั้งเงินทุนสำรอง ควรจะเป็นอย่างไร เพื่อให้บริษัทอยู่รอดและไม่ขาดทุนในอนาคต โดยการตั้งสมมติฐานที่แม่นยำที่สุด"พิเชฐบอกว่า นักคณิตศาสตร์ประกันภัยมีความสำคัญในบริษัทประกันภัยมาก เรียกว่า "ชี้เป็นชี้ตาย" บริษัทนั้นๆ ได้เลย ถ้าสมมติฐานที่ตั้งมาทำอย่างรอบคอบและดีแล้ว บริษัทก็จะอยู่ได้ แต่หากไม่แม่นยำพอ หรือประเมินสถานการณ์ผิดพลาดมีผลให้บริษัทล้มเหลว และขาดทุนได้ สำหรับภาระหน้าที่ของนักคณิตศาสตร์ประกันภัย นักคณิตศาสตร์ประกันภัยหนุ่มบอกกับเราว่า เป็นการทำงานที่ครอบคลุมหลายๆ ส่วน โดยมีทั้งในส่วนของหน้าบ้านและหลังบ้านเขาอธิบายว่า ในการออกผลิตภัณฑ์แต่ละครั้ง นักคณิตศาสตร์ประกันภัยจะติดต่อกับการตลาด ตัวแทน อาจทำในลักษณะสัมภาษณ์กลุ่ม พูดคุยกับตัวแทนว่าลูกค้าชอบหรือไม่ชอบอะไร เพื่อเก็บไอเดียออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ทุกฝ่ายมีผลประโยชน์อย่างสมดุล ที่สำคัญต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีนวัตกรรมด้วยนอกจากนี้ นักคณิตศาสตร์ยังต้องประเมินว่า เศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร ดอกเบี้ยมีความผันผวนไหม อัตรามรณะเป็นอย่างไร เทคโนโลยีทางการแพทย์พัฒนาไปแค่ไหน เพื่อประเมินอัตราการเสียชีวิตของผู้ที่เป็นโรคต่างๆ ที่จะลดลงได้ ทั้งหมดจะบอกกำไรขาดทุนของบริษัทได้นักคณิตศาสตร์ประกันภัยยังต้องกำหนดราคาสินค้าให้เหมาะสม การกำหนดราคาไม่ยากนัก เพียงแค่คีย์ข้อมูลลงคอมพิวเตอร์ก็จะมีรายละเอียดออกมาแล้ว แต่สิ่งที่นักคณิตศาสตร์ประกันภัยจะต้องทำคือมองสมมติฐานให้ออกว่าดอกเบี้ยจะเป็นอย่างไร บริษัทต้องมีการลงทุนแบบใดถึงจะได้ผลตอบแทนสอดคล้องผลประโยชน์ด้านกรมธรรม์"ด้านราคาต้องหนักแน่นเรื่องสมมติฐาน ทำให้นักคณิตศาสตร์ประกันภัยต้องทำงานร่วมกับฝ่ายลงทุน โดยบอกไปว่าจะลงทุนประมาณนี้ ควรซื้อความเสี่ยงแบบไหน ประมาณเท่าไร เราต้องกำหนดการลงทุนร่วมกับฝ่ายลงทุน เรียกว่าพูดคุยกันว่ามีความเป็นไปได้แค่ไหน ก็เสนอไป"แม้แต่การกำหนดโครงสร้างผลตอบแทนนักคณิตศาสตร์ประกันภัย ยังต้องคำนวณว่าควรจะจ่ายผลตอบแทนแก่ตัวแทนในอัตราเท่าไรจึงจะเหมาะสมและบริษัทไม่รับภาระมากจนเกินไป หรือการออกแคมเปญก็ต้องได้ผ่านความเห็นชอบจากนักคณิตศาสตร์ประกันภัยเขาบอกเราว่า นักคณิตศาสตร์ประกันภัยก็เหมือนนักเศรษฐศาสตร์บวกกับนักพยากรณ์ รวมถึงต้องมีวิสัยทัศน์เกี่ยวกับบริษัทด้วย

"นักคณิตศาสตร์ประกันภัยต้องมองทุกอย่าง สินค้าที่ต้องขายต้องเป็นแบบไหน อายุของผู้เอาประกันต้องเป็นยังไง ต้องมีเหตุผลว่าทำไมอายุที่ไม่อยู่ในข่ายที่กำหนดถึงซื้อไม่ได้ รวมถึงการจัดการด้านความเสี่ยงการลงทุน เรียกว่าทุกๆ อย่างต้องมองให้ออก ตั้งสมมติฐานให้ได้"สำหรับงานหลังบ้าน พิเชฐบอกว่า เขาจะดูในส่วนของการจัดการบริษัทอย่างไร เช่น ต้องตั้งเงินสำรองอย่างไร ทำอย่างไรที่จะให้บริษัทอยู่รอดได้ในอีก 100 ปี ข้างหน้า ต้องมีวิธีการจัดการอย่างไรที่จะออกแบบสินค้า วิธีการลงทุน จัดการกับความเสี่ยงอย่างไร รวมถึงบริหารจัดการอย่างไรเพื่อให้สอดคล้องการจ่ายผลประโยชน์ลูกค้า ควรมีเงินปันผลอย่างไร และเกี่ยวกับการประกันภัยต่อด้วย โดยนักคณิตศาสตร์ประกันภัยจะเป็นผู้ไปช็อปปิ้งบริษัทประกันภัยต่ออีกทีพิเชฐบอกอีกว่า การที่ธุรกิจประกันในหลายๆ ประเทศ ขาดแคลนนักคณิตศาสตร์ประกันภัยนั้น เป็นเพราะอาชีพนี้เติบโตไม่ทันการเติบโตของตลาด"อาชีพนี้ขาดแคลน เพราะสอบผ่านยากมาก ต้องใช้เวลาสอบเป็นสิบๆ ปี คนไทยที่ผ่านมาก็ใช้เวลาในการสอบให้ผ่านถึง 13 ปี ในขณะที่ต่างประเทศ คนเก่งๆ ก็นิยมเข้ามาสอบ เนื่องจากเป็นวิชาชีพที่กำลังขาดแคลนเช่นเดียวกัน โดยทั่วโลกมีนักคณิตศาสตร์ประกันภัยระดับ FSAประมาณ 35,000 คน แต่สำหรับประเทศไทยมีเพียง 4 คนเท่านั้น ซึ่งก็น่าจะเป็นเรื่องดีถ้าทุกคนหันมาสนใจอาชีพนี้มากขึ้น เช่นเดียวกับเทรนที่เกิดขึ้นทั่วโลกเวลานี้" ----------------------

นักคณิตศาสตร์ประกันภัย ติด 1 ใน 10 อาชีพทำเงินในจีน

ปัจจุบันนักคณิตศาสตร์ประกันภัยในจีนที่เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติมีอยู่ไม่ถึง 10 คน ในขณะที่ธุรกิจประกันภัยข้ามชาติกำลังรุกเข้าสู่ตลาดจีน พร้อมๆ กับการเติบโตของธุรกิจประกัน ทำให้นักคณิตศาสตร์ประกันภัยกำลังเป็นที่ต้องการตัวเพิ่มมากขึ้นรายได้ของนักคณิตศาสตร์ประกันภัยในต่างประเทศนั้นอยู่ที่ปีละ100,000 เหรียญสหรัฐฯ ขณะที่ในจีนทุกวันนี้นักคณิตศาสตร์ประกันภัยได้เงินเดือนแค่ราว 10,000 หยวน จึงยังมีช่องว่างของรายได้ให้ขยับขึ้นอีกมาก อีกทั้งทัศนคติเชิงบวกกับการทำประกันเริ่มมีมากขึ้นในจีน ทำให้ธุรกิจนี้มีอนาคตที่รุ่งเรือง ส่งผลให้ต้องการบุคลากรด้านนี้อีกจำนวนมาก คาดว่าเมื่อถึงปี ค.ศ. 2010 นักคณิตศาสตร์ประกันภัยในแดนมังกรจะมีรายได้ราว 150,000 หยวนต่อปี(หมายเหตุ : 1 หยวนเท่ากับประมาณ 5 บาท)

เรื่องน่ารู้ในการสอบของ Actuary

ใน Society of Actuaries แห่งสหรัฐอเมริกานั้น มีสมาชิกนักคณิตศาสตร์ประกันภัย 2 ระดับ คือ Associateship (ASA) และ Fellowship (FSA) จากหลักสูตร ปี ค.ศ. 2000 การที่จะได้ Associateship นั้นต้องสอบผ่าน 6วิชา และการที่จะได้ Fellowship นั้นต้องสอบผ่านเพิ่มอีก 2 วิชา ส่วนนักคณิตศาสตร์ประกันภัยที่ทำงานด้านวินาศภัยโดยตรงจะเป็นสมาชิกของ Casualty Actuarial Society ได้นั้นต้องสอบผ่าน 7 วิชาเพื่อได้เป็นสมาชิกระดับ Associateship (ACAS) และต้องสอบเพิ่มอีก 3 วิชาเพื่อได้เป็นสมาชิกระดับ  Fellowship (FCAS)สำหรับนักคณิตศาสตร์ประกันภัยในสหรัฐอเมริกานั้น การสอบมักเป็น requirement และ เงื่อนไขเงินเดือน ควบคู่กับการทำงาน เช่น หากสอบผ่านจะได้เงินเดือนขึ้น 5,000 เหรียญสหรัฐฯ ต่อปีนอกจาก merit increase ปกติ แต่ถ้าหากสอบไม่ผ่านติดต่อกัน 3 ครั้งก็ต้องถูกพิจารณาให้ลาออก เป็นต้น เห็นได้ว่าในสหรัฐอเมริกานั้นได้ให้ความสำคัญกับการศึกษาศาสตร์นี้ในการทำงานโดยตรง

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์ .10 อาชีพเล็งโกยเงินแดนมังกร. 16 มีนาคม 2549

บทความนี้ตีพิมพ์ลงใน จดหมายข่าว IPRB ปีที่ 1 ฉบับที่ 3 เดือนเมษายน-มิถุนายน 2549

  

<<  |