EN | TH

ทำความรู้จักอาชีพนักคณิตศาสตร์ประกันภัย

นักคณิตศาสตร์ประกันภัยเป็นใคร มีความสำคัญอย่างไร?

มีคำกล่าวว่า “อนาคตข้างหน้านั้นเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน” เหตุการณ์บางอย่างเป็นสิ่งที่เราไม่ต้องการให้เกิดขึ้น... “ความเสี่ยง (Risks)” หรือเหตุการณ์ที่ไม่พึงปรารถนาต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้นั้น นักคณิตศาสตร์ประกันภัย (Actuary) เป็นเสมือนผู้ที่จะเข้ามามีบทบาทในการ....

- ประเมินโอกาสที่จะเกิดขึ้นของเหตุการณ์อันไม่พึงปรารถนานั้นๆ

- วางรูปแบบจัดการความเสี่ยงที่เหมาะสม เพื่อลดโอกาสในการเกิดเหตุการณ์ที่ไม่พึงปรารถนานั้น

- หาวิธีลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากเหตุการณ์ที่ไม่พึงปรารถนานั้นเหตุการณ์อันไม่พึงปรารถนาต่างๆ มักส่งผลกระทบต่อทั้งทางด้านอารมณ์และด้านการเงิน การลดโอกาสการเกิดเหตุการณ์เหล่านั้นจะช่วยผ่อนคลายความทุกข์ใจของผู้ประสบเหตุการณ์อันไม่พึงประสงค์ได้ และเนื่องจากการลดผลกระทบทางด้านการเงินเป็นเป้าหมายสำคัญ นักคณิตศาสตร์ประกันภัยจึงมีหน้าที่หาวิธีการที่เหมาะสมเพื่อมาบริหารความเสี่ยงด้านนี้อีกด้วย โดยจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใช้ทั้งทักษะทั้งทางด้านการวิเคราะห์ ความรอบรู้เชิงธุรกิจ และมีความเข้าใจพฤติกรรมของคนเป็นอย่างดีนักคณิตศาสตร์ประกันภัยมักเป็นคนที่รักในวิชาชีพ งานที่คนอาชีพนี้รับผิดชอบเป็นงานที่ท้าทายความสามารถเสมอ และที่สำคัญเป็นอาชีพที่นับว่ามีค่าตอบแทนสูงทีเดียว (ในต่างประเทศ) นักคณิตศาสตร์ประกันภัยถือว่าเป็นบุคคลสำคัญของฝ่ายบริหาร  ท่ามกลางกระแสโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้มีความเสี่ยงภัยใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา และความต้องการจัดการกับความเสี่ยงเหล่านั้นก็มีมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วย จึงเป็นโอกาสที่ดีสำหรับนักคณิตศาสตร์ประกันภัยที่จะมีความก้าวหน้าในวิชาชีพ และได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา“นักคณิตศาสตร์ประกันภัย” ยังเปรียบได้กับ Analytical Backbone ด้านความมั่นคงทางการเงิน ของสังคม และทำหน้าที่เป็นมันสมองที่คอยคิดออกแบบเกราะป้องกันทางการเงิน (Financial Safeguards)วางแผนอนาคตทางการเงินให้กับคนในสังคม ซึ่งเกราะป้องกันที่ว่านี้จะช่วยบรรเทาความเสียหายจากภัยรูปแบบต่างๆ ได้ นอกจากการบริหารจัดการความเสี่ยงแล้ว นักคณิตศาสตร์ประกันภัยยังช่วยวางแผนการบริหารเงินออมของคนในสังคมให้งอกเงยด้วย เรียกได้ว่าเป็นอาชีพที่สร้างประโยชน์ให้กับคนในสังคมอีกอาชีพหนึ่ง...

นักคณิตศาสตร์ประกันภัยมีวิธีจัดการกับความเสี่ยงอย่างไร?

ทุกองค์กรและทุกๆ คน มีโอกาสเผชิญกับความเสี่ยงด้วยกันทั้งสิ้น และอาจเกิดขึ้นได้ในหลากหลายรูปแบบ  นักคณิตศาสตร์ประกันภัยเป็นผู้ทำหน้าที่ประเมินและบริหารความเสี่ยงโดยวิเคราะห์หาวิธีการที่เหมาะสมในการจัดการกับความเสี่ยงเหล่านั้น หากไม่มีนักคณิตศาสตร์ประกันภัยเข้ามาช่วยวางรูปแบบการบริหารจัดการความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ ย่อมส่งผลกระทบต่อสังคมโดยรวมอย่างมากการบริหารจัดการความเสี่ยงนั้นมีหลายรูปแบบ ซึ่งมีทั้งที่ใช้ได้ผลจนเป็นที่ยอมรับกันมาแล้ว และกำลังพัฒนาหารูปแบบที่เหมาะสมอยู่  ถือเป็นศาสตร์หนึ่งที่มีการวิจัยโดยสถาบันการศึกษาอย่างเข้มข้น รวมถึงการศึกษาค้นคว้าโดยผู้ที่ทำงานด้านนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อหารูปแบบใหม่ๆ ในการจัดการความเสี่ยง และทำให้ทุกฝ่ายในระบบเศรษฐกิจได้รับผลประโยชน์ทางด้านการเงินสูงสุด บนพื้นฐานความเสี่ยงที่สามารถยอมรับได้ ซึ่งเทคนิคต่างๆ ที่ได้รับการยอมรับมาแล้ว ได้แก่- การหักกลบลบกัน (Offsetting) ของความเสี่ยงหนึ่งกับอีกความเสี่ยงหนึ่ง  ภายใต้เหตุการณ์ความไม่แน่นอนมากมาย อาจจะมีเหตุการณ์ที่มีความเสี่ยง 2 เหตุการณ์ สัมพันธ์กันในลักษณะที่ว่า เมื่อระดับความเสี่ยงของเหตุการณ์หนึ่งพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ จะทำให้ความเสี่ยงของอีกเหตุการณ์หนึ่งค่อยๆ ลดลง และกลับเป็นผลดีต่อเหตุการณ์นั้นด้วย ยกตัวอย่างเช่น เมื่อราคาโซดาตก จะทำให้ราคากาแฟพุ่งสูงขึ้น  ดังนั้น การจัดการความเสี่ยงดังกล่าวก็คือ การลงทุนหุ้นของทั้งบริษัทผลิตกาแฟและบริษัทผลิตโซดาไปพร้อมๆ กัน- “ความเสี่ยง” เป็นเรื่องของมุมมอง ซึ่งอาจจะต้องมองหลายๆ ด้าน กล่าวคือ ความเสี่ยงนั้นอาจทำให้คนกลุ่มหนึ่งเสียประโยชน์ แต่กลับเป็นประโยชน์ต่อคนอีกกลุ่มหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินบาท ซึ่งอาจจะมีผลกระทบกับผู้ประกอบธุรกิจของสหรัฐฯ บางส่วน ขณะเดียวกันก็อาจเป็นผลดีกับกลุ่มผู้ประกอบการไทยที่ได้รับประโยชน์จากค่าเงินบาทแข็ง

- การให้ความสำคัญกับความเสี่ยงที่เป็นหายนะภัย (Catastrophic Risks) ทฤษฎีทางด้านคณิตศาสตร์ประกันภัยได้สนับสนุนแนวคิดที่ว่า หากต้องการลดความเสี่ยงให้ได้มากที่สุด (จนทำให้ไม่มีความเสี่ยงใดๆ เลย) ก็คือ ต้องจัดการกับเหตุการณ์ที่คาดว่าแทบจะไม่เกิดขึ้น หรือมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก แต่ถ้าเกิดขึ้นแล้วจะสร้างความเสียหายมหาศาล (Big Losses) ยกตัวอย่างเช่น ทุกครอบครัวควรจะมีการวางแผนไว้ล่วงหน้า หากเกิดความสูญเสียที่ไม่คาดฝัน อย่างเช่นหัวหน้าครอบครัวเสียชีวิตกะทันหัน ไฟไหม้บ้าน หรือเงินที่เก็บออมไว้หมดลง ดังนั้น แต่ละครอบครัวจะต้องหาทางบรรเทาความเสี่ยงเหล่านี้ ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบต่อปัจจัยทางด้านการเงินด้วย โดยอาจทำด้วยการซื้อกรมธรรม์ประกันชีวิต การลงทุนในหุ้น หรือการออมกับกองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้นหลากหลายกลุ่ม เพื่อลดความเสี่ยงในการทุ่มเงินลงทุนกับบริษัทเดียว เพราะโดยทั่วไปแล้วเมื่อมีหายนะภัยเกิดขึ้น แม้เพียงไม่กี่ครั้ง ก็ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนอย่างมหาศาล

- การกระจายความเสี่ยง (Diversify) กล่าวคือ การยอมรับความเสี่ยงเล็กๆ น้อยๆ แม้จะเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ย่อมดีกว่าเผชิญกับความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดความเสียหายมหาศาลเพียงครั้งเดียว ถือหลักการกระจายความเสี่ยง เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบรุนแรงจนเกินไป และยังสามารถคาดการณ์ผลที่เกิดขึ้นตามมาได้ นับเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการบริหารความเสี่ยงอีกอย่างหนึ่ง    

นักคณิตศาสตร์ประกันภัยมีบทบาทอยู่ในแวดวงใดบ้าง ?

ปัจจุบันงานด้านคณิตศาสตร์ประกันภัยส่วนใหญ่มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับอุตสาหกรรมประกันภัย  ขณะเดียวกันก็กำลังขยายวงกว้างไปสู่ภาคธุรกิจอื่นๆ เหตุที่งานคณิตศาสตร์ประกันภัยมีความสำคัญอย่างมากในธุรกิจประกันภัย เนื่องจากเป็นกลไกหลักที่เข้ามาช่วยบริหารจัดการความเสี่ยงของคนในสังคม การประกันภัยช่วยบรรเทาความเสี่ยงทางด้านการเงิน โดยบริษัทประกันภัยทำหน้าที่รับเสี่ยงภัย ขณะเดียวกันผู้เอาประกันก็ต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันภัย ซึ่ง“นักคณิตศาสตร์ประกันภัย” จะเป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการคิดรูปแบบกรมธรรม์ต่างๆ กำหนดอัตราเบี้ยประกันภัย และคอยติดตามผลการดำเนินงานของบริษัทอย่างสม่ำเสมอ พร้อมกับให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ต่อความสามารถในการทำกำไรของบริษัท นอกจากนี้ นักคณิตศาสตร์ประกันภัยยังคอยดูแลเงินกองทุนของบริษัทให้เพียงพอสำหรับการจ่ายค่าสินไหมทดแทน ตลอดจนให้คำแนะนำด้านการลงทุนสินทรัพย์ต่างๆ ของบริษัทให้ได้ผลตอบแทนสูงสุดว่ากันไปแล้ว นักคณิตศาสตร์ประกันภัยมีบทบาทสำคัญต่อทุกภาคธุรกิจในระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาคบริการทางการเงิน ไม่ว่าจะเป็นบริษัทประกันภัย สถาบันการเงินต่างๆ ธนาคารพาณิชย์ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐ นอกจากนี้ ยังมีนักคณิตศาสตร์ประกันภัยอีกจำนวนไม่น้อยที่ทำงานให้กับบริษัทที่ปรึกษาด้านคณิตศาสตร์ประกันภัย หรือแม้กระทั่งการเป็นที่ปรึกษาอิสระ ถือได้ว่าเป็นอีกวิชาชีพหนึ่งที่มีความยืดหยุ่นสูง และมีอิสระในการเป็นเจ้านายตนเอง (Being of Your Own Boss)…

สำหรับผู้สนใจงานด้านคณิตศาสตร์ประกันภัย สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่

http://www.beanactuary.org/onthejobข้อมูลอ้างอิง :

http://www.beanactuary.org/about/whatis.cfm

http://www.usnews.com/usnews/biztech/best_careers_2007/careertable.htm

  

<<  |